2111 จำนวนผู้เข้าชม |
1. น้ำมะพร้าวทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ เอสโตรเจนสูงขึ้น
2. น้ำมะพร้าวมีลักษณะการทำงานที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่การทำงานช่วยเพิ่มการบำรุงและปกป้องระบบประสาทได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอกที่ชื่อ เอสตราดิออล เบนโซเอท
จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2554 ในหัวข้อ Young coconut juice can accelerate the healing process of cutaneous wounds. โดย Nisaudah Radenahmad และคณะ ได้สนใจในประเด็นว่า ฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ เอสโตรเจน ได้ถูกรายงานว่าช่วยเร่งเยียวยาแผลที่ผิวหนังให้หายได้เร็วขึ้น ดังนั้นจึงมาศึกษาผลการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำหน้าที่ในการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยการทดลองกับบาดแผลในกลุ่มหนูที่เอามดลูกออกไปแล้วทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ว่าจะเป็นผลอย่างไร?
ผลปรากฏว่ากลุ่มหนูที่ไม่มีมดลูกและไม่สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนจากรังไข่ (เพื่อเทียบเคียงกับคนวัยหมดประจำเดือน) บาดแผลเมื่อได้รับน้ำมะพร้าวซึ่งมีลักษณะคล้ายการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในการเยียวยาแผลให้ดีขึ้นได้ในหนูทดลองจริง
น้ำมะพร้าวจึงช่วยบำรุงผิวเสมือนเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ผิวจึงดูนุ่มเนียน รูขุมขนเล็ก การดื่มน้ำมะพร้าวจึงทำให้ผิวพรรณดูดีอ่อนกว่าวัยได้อย่างไม่ต้องสงสัย และสงสัยกันว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับสตรีที่เข้าสู่วัยทองหรือหมดประจำเดือนแล้ว เช่นเดียวกันด้วยหรือไม่?
แต่ฮอร์โมน "เอสโตรเจน" ที่เพิ่มสูงขึ้น มีทั้งประโยชน์และโทษ ถ้าใช้ให้เป็นก็เกิดประโยชน์ และถ้าไม่ระมัดระวังก็เกิดโทษได้เช่นกัน
เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน มีฤทธิ์เย็นเป็น "หยิน"ในเพศหญิง ดังนั้นคนที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินพอดี ก็จะออกฤทธิ์ทำให้การทำงานของไทรอยด์ต่ำแฝง แม้ผิวพรรณจะดี แต่ทำให้อัตราการเผาผลาญต่ำผิดปกติตามมาได้
ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไปและส่งผลทำให้การทำงานของไทยรอยด์ต่ำลงนั้นจะส่งผลทำให้ ตัวเย็นลงอยู่ต่ำกว่า 36.3 องศาเซลเซียสในผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือน หรือ 36.4 องศาเซลเซียสในผู้ชาย หรือ ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว
ลักษณะที่การทำงานของไทรอยด์ต่ำลง จากผลการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการใดอาการหนึ่งหรือหลายอาการรวมกันดังต่อไปนี้ คือ หนาวง่าย มือเท้าเย็น ง่วงซึม ไม่ค่อยมีแรง ซึมเศร้าง่าย กินน้อยอ้วนง่าย ไขมันเพิ่มขึ้นง่าย บวมตามเนื้อตัวทั่วๆไป ท้องผูก ปวดข้อ ปวดประจำเดือนอย่างมาก ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนหายไปไม่ตรงเวลา อารมณ์แปรปรวนและวิตกกังวลง่าย มีอาการซึมเศร้า มีลูกยาก แท้งง่าย เป็นผื่นคัน ผิวแห้ง สิว ผิวลอก เปลือกตาบวม ความจำไม่ดี หัวใจเต้นช้า บางครั้งก็เต้นเร็วรุนแรงอย่างผิดปกติ เล็บเปราะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สายตาไม่ดี นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดหัวไมเกรน ฯลฯ
แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะต้องมีความระมัดระวังให้มากขึ้นไปอีกก็คือ การสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนของแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะผู้หญิง ถ้าบางคนสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยการบริโภคอาหารที่มีเอสโตรเจนก็จะเป็นประโยชน์ แต่สำหรับผู้หญิงบางคนที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงผิดปกติ และสูงกว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (ฮอร์โมน "หยาง" ในเพศหญิง) จนเกินสมดุล ถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติตามอวัยวะเพศก็จะสูงเพิ่มขึ้นได้ เช่น เนื้องอก ซีสต์ หรือมะเร็ง ในมดลูก เต้านม ปากมดลูก ทำให้เกิดความผิดปกติต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กแท้งง่าย และทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างโปรเจสเตอโรนธรรมชาติได้ตามปกติ
ปัญหาสำคัญในการเพิ่มของฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงไม่ได้มาจากน้ำมะพร้าวโดยตรง แต่ความสำคัญคือเราได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่โดยไม่รู้ตัว เช่น เนื้อสัตว์ นม ชีส เนย ไข่ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
และอย่าแปลกใจที่เราได้รับฮอร์โมนเหล่านี้จากสัตว์มาก โดยเฉพาะ นม ชีส เนย ที่ในยุคอุตสาหกรรมนั้น ได้ทำการรีดนมวัวเพื่อนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรมอาหารแม้ในช่วงที่แม่วัวใกล้คลอดลูกซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แม่วัวจะสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมากผิดปกติ ทำให้อาหารในนมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมในยุคปัจจุบันมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมาก ยังไม่นับว่ามีการเร่งการเจริญเติบโตในวงการปศุสัตว์ทำให้เนื้อสัตว์ก็มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเช่นกัน ส่งผลทำให้คนที่บริโภคอาหารกลุ่มนี้เลยได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากผิดปกติไปด้วย โรคไทรอยด์ทำงานต่ำผิดปกติและอัตราการเผาผลาญต่ำผิดปกติ จึงเป็นโรคยอดฮิตในยุคปัจจุบันไปโดยปริยาย
รวมถึงการเบี่ยงเบนทางเพศเพราะรับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนมากเกิน ก็สามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าในยุคสมัยก่อนมาก
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กผู้หญิงในยุคปัจจุบันเข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้นก่อนวัยอันควรเมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิงสมัยก่อน มีประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 13 ปี และจะยังสังเกตได้ว่ามีสัดส่วนที่ขาสั้นสะโพกผายมากซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงโดดเกินกว่าโปรเจสเตอโรนไปมาก
และไม่ว่าเอสโตรเจนจากสัตว์หรือยาภายนอก จะเป็นอันตรายเหมือนหรือไม่เหมือนกับการทำงานที่คล้ายกับเอสโตรเจนของน้ำมะพร้าว (เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก) แต่ก็พอจะได้ข้อสรุปว่าทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนจากสัตว์และผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมถึงเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นจากน้ำมะพร้าวจะกดการทำงานของไทรอยด์ให้ลดต่ำลงได้เหมือนกัน
ดังนั้นคนที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำแฝงจากภาวะที่เอสโตรเจนเพิ่มสูงโดดเกิน จึงควรต้องเพิ่มการทำงานของไทรอยด์ด้วยการ "เพิ่มฤทธิ์หยาง" ด้วยการดื่ม "น้ำมันมะพร้าว" และหลีกเลี่ยงน้ำมะพร้าว เนื้อสัตว์ นม ชีส เนย ไข่ ฯลฯ หรือถ้าจะกินมะพร้าวก็ให้เลือกกินเฉพาะเนื้อมะพร้าว (ซึ่งมีน้ำมันมะพร้าว)โดยไม่ดื่มน้ำมะพร้าว จะสามารถเพิ่มการทำงานของไทรอยด์ให้ดีขึ้นได้
สำหรับผู้ชาย และผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี มีพลังชีวิตเยอะ หากออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมอาหารไม่ให้มีเอสโตรเจนสูงโดดเกินไป และไม่ได้มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ การดื่มน้ำมะพร้าวนอกจากจะไม่มีปัญหาแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย
แต่สำหรับคนอายุต่ำกว่า 50 ปี แต่มีภาวะไทรอยด์ต่ำแฝง รวมถึงผู้สูงวัยเกิน 50 ปีไปแล้วพลังชีวิตจะลดน้อยลง การทำงานของไทรอยด์จึงลดต่ำลงตามสัญญาณชีพที่ลดลงตามธรรมชาติ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะพร้าวให้น้อยลง แต่ถ้าอดใจไม่ไหวที่จะดื่มน้ำมะพร้าวแล้ว ก็ขอให้กินเนื้อมะพร้าวตามไปด้วย หรือกินกะทิหรือดื่มน้ำมันมะพร้าวให้เพิ่มขึ้น เพื่อถ่วงดุลไม่ให้เกิดภาวะ "หยิน"เกิน