2638 จำนวนผู้เข้าชม |
วันวิสาขบูชา ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ความหมายของ "วันวิสาขบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน
ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา"
หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก "วิสา - ขบุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา
เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
- ประสูติ เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
- ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
* ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
* ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
* ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่
(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ ๔) หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่...
1. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
4. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป
- ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)
การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก
ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชา นี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะ พระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย ใน หนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า
"เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คือ พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ 4 เท้า 2 เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน
ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุค ทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา
พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท ประวัติความเป็นมา
ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา นี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติเมื่อ ๒๖๐๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว
พระ บิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่าพระนางสิริมหามายา ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นเจ้าชายในราชสกุลโคตมะ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คำว่า 'พุทธ' หรือ 'พุทธิ' ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกัน แปลว่า ปัญญา หรือ การตรัสรู้ จากคำสอนในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงเป็นผู้รู้สัจจธรรม และทรงมีพระญาณทัศนะกว้างไกลที่พระองค์ทรงรู้เห็นกำเนิด และความเป็นไปของสัตว์โลกตลอดภพสาม มีพระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนพระองค์ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เมื่อแต่ละพระองค์ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐแล้ว ทรงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ชาวโลกพ้นจากวัฏสงสารด้วยมหากรุณา จากพระไตรปิฏก "อปทานสูตร และพุทธวงศ์" กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นานนับอสงไขยกว่าที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
แม้ในขุททกนิกาย ชาดก ได้เล่าการสร้างบารมีถึง ๕๔๗ ชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มาตลอดกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นผู้มีบุญที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และความเมตตา หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน พระมารดาก็สวรรคต พระน้านางคือพระนางปชาบดีโคตมี เป็นผู้บำรุงเลี้ยงรักษา หลังจากประสูติได้ไม่นาน พระบิดาได้อัญเชิญอสิตดาบสมาทำนายอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะ อสิตดาบสแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระที่นั่งคือ หัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะดีใจที่ได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ร้องไห้เพราะอสิตดาบสนั้นจะมีอายุไม่ยืนยาวทันรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ คำทำนายนี้ได้รับการยืนยันจาก โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นดาบสอีกท่านหนึ่งที่ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะสละราชสมบัติ เมื่อผนวชแล้วจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนดาบสอื่นๆ ล้วนทำนายว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงผนวช จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คำทำนายดังกล่าวสร้างความตระหนกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อ จากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ จึงทรงป้องกันเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้เห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอำมาตย์เสนาบดี ช่วยกันสร้างปราสาทสามฤดูแก่เจ้าชาย ปราสาทแต่ละแห่งแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกผนวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติอย่างแท้จริง. เมื่อเจ้าชายทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสีคือพระนางยโสธรา พิมพาประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์นึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์ ต่อมา
เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงออกจากวัง ถือเพศเป็นนักบวชเที่ยวภิกขาจารไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ณ ใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรม เจ้าชายสิทธัตถะได้แสวงหาผู้สอนวิธีหลุดพ้นแก่พระองค์ ๒ คนคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งทั้งสองนี้สอนพระองค์ให้ได้ญานชั้นสูง แต่ไม่บรรลุธรรม เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศธรรม เผยแผ่คำสอนที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ตามพระองค์ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนา และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยนั้นมีตั้งแต่ กษัตริย์ เจ้าชาย พ่อค้า แม่ค้า พราหมณ์ เศรษฐี ยาจกเข็ญใจ และชนทุกชั้นในสังคม
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
กตัญญู กตเวที
ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการะคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้นผู้ที่ทำอุปการรคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ บิดามารดา และครูอาจารย์ บิดามารดา มีอุปการะคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครอบที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ ไว้เป็นมรดก บุตร ธิดา
เมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการ ประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ครูอาจารย์ มีอุปการะคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีสอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตร ธิดา ก็จะรู้จัก หน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
สำหรับ ครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้น ทุกข์ให้แก่เวไนย-สัตว์ พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
อริยสัจ ๔
อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการ ดำเนินชีวิตประจำวัน
ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันคือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ
ซึ่งประกอบไปด้วย ความยึดมั่น นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไขได้ โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘
ความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึงการระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถกล่าวคือ ระลึกรู้ทันในขณะยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับดังนี้คือ
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปนโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ
จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน
จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง