2155 จำนวนผู้เข้าชม |
มะพร้าว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cocos nucifera สันนิษฐานว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยก็มีความผูกพันกับมะพร้าวมาช้านาน จากหลักฐานปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 กล่าวว่า หมากพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ทำให้ทราบว่าคนไทยรู้จักปลูกมะพร้าวมาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคสุโขทัย
มะพร้าวถือเป็นต้นไม้เอนกประสงค์ คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากมะพร้าวมาตั้งแต่รากจรดยอด กล่าวคือ ราก ใช้ทำยา แก้โรคผิวหนัง คลื่นเหียนอาเจียน หรือท้องเสีย ลำต้น ใช้ทำสะพานหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใบ ใช้ทำเครื่องจักรสาน ห่อขนม ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาด ดอก ให้น้ำหวานที่เรียกว่าน้ำตาลสด เปลือก หรือ กาบ ใช้ทำที่นอน สุมจุดไฟไล่ยุง ขัดพื้นไม้ เนื้อ ใช้ปรุงอาหารนานาชนิดทั้งคาวหวาน กะลา มะพร้าวใช้เป็นเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ใช้ทำเครื่องประดับ หรือทำจานชามได้
คนไทยคุ้นเคยกับมะพร้าวและมีภูมิปัญญารู้จักชนิดของมะพร้าว ว่าชนิดไหนใช้ทำอาหารหรือใช้ทำยา อย่างเช่น มะพร้าวแกง เป็นมะพร้าวเนื้อแข็ง สามารถขูดเนื้อไปคั้นกะทิเพื่อใช้ทำแกงได้ มะพร้าวน้ำเค็ม เป็นมะพร้าวที่ปลูกตามชายฝั่งทะเลหรือพื้นที่น้ำทะเลเข้าถึง มีเนื้ออ่อนนุ่ม สามารถใช้ทำขนม เช่น ขนมบ้าบิ่น
มะพร้าวพวงร้อย ในหนึ่งทลายมีผลเล็กหลายสิบลูก เป็นมะพร้าวน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ใช้ทำขนมได้อร่อย มะพร้าวไฟ ลูกมะพร้าวมีสีแดง ใช้ทำเป็นยาได้ มะพร้าวน้ำหอม นิยมปลูกไว้ทานน้ำกับเนื้อ แต่ทานได้เฉพาะตอนที่ผลยังอ่อนอยู่
นอกจากชนิดของมะพร้าวที่ใช้ทำยาและอาหารแล้ว คนไทยยังรู้จักชนิดมะพร้าวที่นำมาใช้เป็นเครื่องดนตรี คือ มะพร้าวซอ ปลูกบริเวณอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นิยมนำมาทำซออู้ เนื่องจากอุ้มเสียงได้ดี ลักษณะของกะลามีส่วนที่โป่งออกมา 3 พลู หากได้พันธุ์ดีจะขัดออกมาเป็นสีงาช้าง ใช้ทำกะโหลกซออู้ได้สวยงาม
มะพร้าวยังเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากคนโบราณเห็นว่า มะพร้าวที่มีเปลือกแข็งกลับมีน้ำอยู่ภายใน ซ้ำยังมีรสหวาน จึงเชื่อว่าเป็นผลไม้วิเศษ และถือว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามคติความเชื่อในวิถีของไทยตั้งแต่เกิดจนตาย
กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อนเกิด หญิงที่ตั้งครรภ์มีความเชื่อว่า ถ้าดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนอยู่เสมอ เด็กทารกที่คลอดจะไม่มีไขมันเกาะตัวมากนัก ทำให้ทารกแข็งแรงและผิวพรรณดี ต่อมาเมื่อเป็นเด็ก ใน พิธีปลงผมไฟ พิธีทำขวัญเดือน พิธีโกนจุก ก็ใช้มะพร้าวประกอบพิธีทั้งหมด พราหมณ์ที่ทำพิธีจะตัดเนื้อมะพร้าวอ่อนป้อนให้เด็กเพราะเชื่อว่าเป็นอาหารมงคล
ตอนจะบวชใน พิธีทำขวัญนาค ผู้ทำขวัญหรือหมอขวัญก็จะตัดเนื้อมะพร้าวอ่อนให้นาครับประทานถือว่าเป็นอาหารมงคลเช่นกัน
รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่มีการบรวงสรวงสังเวย เช่น พิธียกเสาเอกบ้าน พิธียกศาลพระภูมิ พิธีไหว้ครู มะพร้าวก็ถือเป็นผลไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธี
มาจนการแต่งงานก็ใช้มะพร้าวในขบวนขันหมากด้วย
จนกระทั่งตอนตาย ในงานพิธีปลงศพ สัปเหร่อจะต้องล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว โดยเอาท่อนฟืนต่อยลูกมะพร้าวแล้วใช้น้ำล้างหน้าศพ
นอกจากนี้ คำว่า มะพร้าว ยังปรากฏอยู่ในสำนวนไทยต่างๆ เช่น มะพร้าวห้าวเอาไปขายสวน คือ เอาของที่คนมีอยู่แล้วไปให้ หมายถึง การกระทำที่ไม่มีคุณค่าอะไร มะพร้าวห้าวยัดปาก การพูดจาก้าวร้าวที่อาจเป็นภัยแก่ตัว มะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี หมายถึงคนที่ไม่เคยมีมาก่อน พอมั่งมีขึ้นมาก็รู้สึกตื่นเต้น มะพร้าวทึนทึก หมายถึงมะพร้าวแก่จัด คนโบราณนำมาใช้เรียกสาวใหญ่ที่ไม่ได้แต่งงาน